เจ็บรองช้ำ รักษาได้หรือไม่ ป้องกันอย่างไร
เคยหรือไม่ที่มีอาการเจ็บที่ส้นเท้าจนลามไปทั่วฝ่าเท้า โดยเฉพาะจะมีอาการปวดมากที่สุดเมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอนหรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน หากเคย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ”
นักวิ่งจำนวนไม่น้อย เมื่อเข้าสู่วงการวิ่งแล้ว ขาดความตระหนักรู้ ถึงอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย จากการขาดความรู้ในเชิงการป้องกัน
ซึ่งอาการที่มักพบกับนักวิ่งที่เริ่มเข้าฝัก มีการฝึกที่เข้มข้นขึ้น แต่.. ขาดความระมัดระวัง รวมทั้ง ขาดกระบวนความรู้ที่จะป้องกัน อาการที่กล่าวถึงนี้ก็คือ การเจ็บรองช้ำนั่นเอง
การเจ็บรองช้ำป้องกันได้หรือไม่?
ป้องกันได้แน่นอน โดยมีแนวทาง ดังนี้
1. เลี่ยงการซ้อมวิ่งบนพื้นแข็ง เช่น พื้นคอนกรีต ความหมายคือ ควรมีการซ้อมบนพื้นถนนยางมะตอย พื้นหญ้า พื้นยาง หรือ พื้นดิน บ้าง
2. หมั่นสังเกตตนเองว่าเริ่มมีอาการตรึงฝ่าเท้ามากขึ้นหรือไม่ หากเริ่มรู้สึก ควรรีบพิจารณาดำเนินการป้องกันไม่ให้รุกรามจนเกิดการเจ็บรองช้ำ การดำเนินการคือ หาอุปกรณ์โค้งมนที่สามารถใช้เท้าเหยียบได้ เช่น กะลา ลูกเทนนิส หรือ อื่นๆ ให้ทำการยืนบนกะลา ให้กะลาอยู่กลางอุ้งเท้า เสมือนเป็นการยืดเส้นเอ็นส่วนฝ่าเท้า ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นเอ็นส้นเท้าและข้อเท้าอยู่แล้วนั่นเอง
เพียง 2 ข้อ ก็สามารถป้องกันการเกิดอาการเจ็บรองช้ำได้แล้ว ขอเพียงเข้าใจและหมั่นยืดเหยียดให้เยอะและบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ข้อมูลทางวิชาการ เพื่อใช้เป็นหลักการและความรู้สำหรับนักวิ่งอย่างเราๆ
โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือที่มักจะรู้จักกันในชื่อ โรครองช้ำ เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยจะพบมากในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุของโรคอาจเกิดได้จาก
- การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องยืนเป็นเวลานานในระหว่างวัน เช่น ผู้ที่ต้องยืนตลอดกะการทำงานทั้ง 8 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น
- น้ำหนักตัวมาก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
- สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า
- ลักษณะการทำกิจกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกาย การเดิน/วิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิมหรือบนพื้นผิวแข็ง (เช่น พื้นซีเมนต์หรือคอนกรีต)
- เอ็นร้อยหวายยึด ทำให้ส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบอาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
- ปัจจัยทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไป หรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่องทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
อาการหลักๆ ของโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือ อาการเจ็บที่ส้นเท้าและลามไปทั่วฝ่าเท้า ในบางครั้งอาจลามไปที่อุ้งเท้าด้วย ลักษณะของอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบ โดยมากความเจ็บปวดจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย จนคิดว่าเดี๋ยวอาการปวดก็หายไป แต่ก็จะกลับมาปวดอีก อาการปวดจะรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก เช่น เมื่อลุกเดินก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักเป็นเวลานาน นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดมากขึ้นได้ในช่วงระหว่างวันและ/หรือหลังจากที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานาน เช่น ยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นก็จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น
สำหรับการรักษาโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ ทำได้โดย
- รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูก เช่น อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน (arch support) และ/หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า (heel cushion)
- ทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
- ฉีดสเตียรอยด์ แต่เป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก โดย 98% ของผู้ที่ได้รับการฉีดสเตียรอยด์จะรู้สึกดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือนจึงจะหายขาด และในบางครั้งโรคอาจเกิดขึ้นมาได้อีก
ทั้งนี้ การรักษาโรคนี้โดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การเจ็บปวดต่อเนื่อง การที่เส้นประสาทเล็กๆ บริเวณฝ่าเท้าได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกชาและเหมือนมีเข็มตำที่ส้นเท้า นอกจากนี้การผ่าตัดนำพังผืดออกอาจส่งผลให้ฝ่าเท้าแบนอีกด้วย
แม้จะดูเหมือนโรคนี้ไม่อันตรายร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลส่วนหนึ่งจาก bumrungrad.com
เรียบเรียงโดย คันเทวุน
บาดเจ็บ รองช้ำ รักษา ป้องกัน เอ็นฝ่าเท้า อักเสบ