วุฒิภาวะสู่เป้าหมายในการวิ่ง
เป้าหมายในการวิ่ง หรือ การออกกำลังกายของเราคืออะไร หาให้พบ แล้วใส่ความมีวุฒิภาวะเข้าไป จะทำให้เราหาความสุขเจอเร็วขึ้น
ยิ่งมีวุฒิภาวะมาก...ก็จะหาความสุขเจอเร็วขึ้น
ใครๆ ก็คงได้ยินคำพูดที่ว่า สังคมสมัยนี้เป็นสังคมแห่งผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งนะ แต่แนวโน้มเป็นเหมือนกันไปทั่วโลกเพราะ คนสามารถพัฒนาชีวิตให้ยืนยาวขึ้น ในขณะอัตราการเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้สัดส่วนทางสังคมจึงเปลี่ยนไป แต่ปัญหาบางอย่างมันก็มาพร้อมกับการสูงวัยขึ้น โรคเอย, ความยากจนเอย, การสูญเสียสถานะทางสังคมเอย แถมยังไม่รวมปัญหาทางใจ เช่น ทั้งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตแต่วันนี้มันกลับไม่มีความหมาย เพราะความต้องการก็เปลี่ยนไป และบทบาทของเราก็เปลี่ยนไปคือไม่ได้สำคัญดังเดิม มันจึงยากมากที่จะอยู่แค่กับความสำเร็จในอดีต
แต่ อายุมากขึ้นมันก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ ๆ ไปซะหมด การแก่ตัวลงก็แลกมาซึ่งประสบการณ์อันมีคุณค่า ทั้งความรู้ ความชำนาญ โดยเฉพาะ “การเติบโตขึ้นทางอารมณ์” มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย อย่างกรมควบคุมโรคติดต่อ (CDC) ทำการสำรวจผู้คนทุกช่วงอายุ ว่าพวกเค้าได้รับความเครียดทางจิตใจหรือไม่ ผลน่าแปลกใจมากเมื่อพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุตอบว่ามีความเครียดเหมือนกัน แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มวัยกลางคน และเด็ก และยังมีการสำรวจโดยแกลลอป (Gallop) ถามว่าได้รับความเครียด ความกังวลใจ และความโกรธ มากเพียงใดในช่วงที่ผ่านมา
ผลสำรวจคือ
ความเครียด ความกังวล และความโกรธ ต่างลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น นักสังคมศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า "ความผิดแผกของการสูงวัย" (Paradox of aging) ลอร่าและเพื่อนร่วมงานได้ทำการศึกษาติดตามคนกลุ่มหนึ่งเป็นระยะเวลา10 ปี โดยมีกลุ่มตัวอย่างตั้งต้นตั้งแต่ 18 ถึง 94 ปี ดูว่าความรู้สึกของพวกเค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
การศึกษาพบว่า
ผู้สูงอายุมีวิธีรับมือกับความเศร้า ได้ดีกว่า ยอมรับความเศร้าได้มากกว่าคนที่อายุยังน้อย ผู้สูงอายุสามารถมอง “ความอยุติธรรม” ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ใช่ด้วยความโศกเศร้า สามารถมองเห็นทุกอย่างเท่าเทียมกัน สามารถตั้งสมาธิไปยังข้อมูลด้านบวกได้มากกว่าด้านลบ สมมุติว่า ถ้าให้คนในช่วงวัยต่างกันดูรูป และถามแต่ละกลุ่มว่าจำอะไรได้บ้างจากภาพเหล่านั้น
ผู้สูงอายุ จะจำภาพในทางบวกได้มากกว่าภาพในทางลบ ซึ่งแตกต่างจากวัยรุ่น หรือวัยกลางคน ในฐานะของนักสังคมศาสตร์ก็ยังศึกษาต่อว่ามันเป็นไปได้หรือเปล่า ที่ผู้สูงอายุจะเริ่มมีความผิดปกติทางการรับรู้ทางสมอง (เพื่อไม่เป็นการเข้าข้างผู้สูงอายุจนเกินไป) แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ เพราะภายใต้เงื่อนไขที่กดดันผู้สูงอายุก็สามารถรับข้อมูลทางด้านลบได้ดีพอๆ กับที่รับข้อมูลด้านบวก
ผลสรุปจากงานวิจัย พบว่า
“ประสบการณ์”...มีความสำคัญมากเหลือเกินต่อการเปลี่ยนมุมมองชีวิต อย่างที่เป็นในช่วงวัยรุ่นผู้คนจะพยายามเรียนรู้ สร้างเส้นทางชีวิต และพยายามรับรู้ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทั้งการลองเสี่ยง ทั้งการสำรวจ ลองผิดลองถูก ทุ่มเทความฝันต่อสู้ไปพร้อมกับเสียงต้านทาน บางครั้งก็เครียดถึงขั้นดราม่าเสียน้ำตา แต่สุดท้ายก็ได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างเดี๋ยวมันก็ผ่านไปได้
เมื่อแก่ตัวช่วงเวลาของเราก็ยิ่งสั้นลง เป้าหมายของเราก็เปลี่ยนไป เมื่อได้รู้ว่าไม่มีเวลาไปตลอดกาล จึงเลือกให้ความสำคัญต่อสิ่งต่างๆในชีวิต คือให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยลง เห็นคุณค่าของชีวิต และเปิดกว้างต่อการให้อภัยมากขึ้น ใช้เวลากับส่วนที่สำคัญต่อความรู้สึกมากขึ้น ชีวิตก็เลยดียิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก TEDTOP
เรียบเรียงโดย กะทิ
วิ่ง วุฒิภาวะ เป้าหมาย การวิ่ง ความสุข นักวิ่ง ออกกำลังกาย